.
คำแถลงนโยบายการบริหารงาน อพท. ประจำปี 2564
โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท.
ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีภารกิจการดำเนินงาน
ด้านการบริหารและการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและระดับสากล โดยยึดมั่นปรัชญาการทำงานแบบ Co-creation เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ศรัทธาในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้เข้ามามีส่วนในการ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์” บนพื้นฐานในการทำงานที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและความโปร่งใส ในการพัฒนาการท่องเที่ยว
เพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข”
แม้ว่าประเทศไทยจะประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อพท. ก็ได้พัฒนาการท่องเที่ยวและสร้างต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ใน 6 พื้นที่พิเศษผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัล Global Sustainable Destinations Top 100 จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่ พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน และพื้นที่ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีเมืองท่องเที่ยวที่มีการพัฒนาตามแนวทางเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย
ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts)
ในขณะที่การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism: CBT) โดยการ“สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน” จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน และเป็นที่น่ายินดีที่ชุมชน อพท. เข้าไปพัฒนาจนได้รับรางวัลจาก Pacific Asia Travel Association: PATA หรือรางวัล PATA Gold Awards 2020 ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูแหล่งท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน และมีพัฒนาการจนเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการในระดับภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำนวน 2 สาขารางวัล คือ 1) การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเพื่อยกระดับรายได้ของกลุ่มสตรีในพื้นที่พิเศษภายใต้แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ได้รับรางวัลในสาขา Sustainability – Women Empowerment Initiative และ 2) การสืบสานรากเหง้าแห่งภูมิปัญญาสู่การพัฒนาเยาวชนที่ยั่งยืน ได้รับรางวัลในสาขา Sustainability – Youth Empowerment Initiative
จากความสำเร็จในรอบปีที่ผ่านมาเป็นผลจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และได้นำมาซึ่งความท้าทายในการขับเคลื่อนภารกิจของ อพท. ในปี 2564 ยังคงดำเนินการบริหารงานที่ยึดมั่นในปรัชญาการทำงานแบบ Co-creation คือ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์” ต่อไป และจะเพิ่มอีก 1 ร่วม คือร่วมเป็นเจ้าของ หรือ Co-Own เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความหวงแหนร่วมกัน โดยมีจุดเน้นการดำเนินงาน
ที่สำคัญในปี 2564 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร (งบประมาณประจำปีและเงินทุน อพท.) รวมทั้งสิ้น 482.4920 ล้านบาท ดังนี้
1. ภารกิจด้านการประกาศพื้นที่พิเศษ อพท. อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษแห่งใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า นอกจากนี้ในพื้นที่พิเศษที่ได้รับการประกาศไปแล้ว อพท. ได้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ได้เห็นชอบในหลักการตามที่ อพท. เสนอแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ข้อกฎหมายให้ชัดเจนก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป สำหรับแผนฯ ในพื้นที่อื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวน และนำเสนอคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (พพท.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ
2. ภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในพื้นที่พิเศษจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จังหวัดตราด พื้นที่ตำบลนาเกลือ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย พื้นที่ตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย พื้นที่ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน และพื้นที่เทศบาลตำบลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป้าหมายสำคัญในปี 2564 คือ อพท. จะผลักดันให้พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย ให้เป็น Global Sustainable Destinations Top 100 หรือแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง
3. ภารกิจด้านการขับเคลื่อนเมืองตามแนวทางเครือข่ายเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดน่าน และ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ประจำปี 2564 ให้ได้ร้อยละ 75 และจัดทำใบสมัครในการเสนอเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก
4. ภารกิจด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism : CBT) โดยการ “สร้างต้นแบบ การท่องเที่ยวโดยชุมชน” จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันจำนวน 40 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ และในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายในการผลักดันชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้อย่างน้อย 8 ชุมชน นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 แพร่ระบาด อพท. ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใดและได้มีการจัดเตรียมแผนงานและมาตรการช่วยเหลือชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษไว้ด้วย เช่น
การเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์โดยการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาจำหน่าย ร่วมมือกับผู้ประกอบการในการนำชุมชนท่องเที่ยวมาผนวกกับเส้นทางการท่องเที่ยวหลัก อันจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
5. สำหรับนโยบายและแผนงานที่จะดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กร ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน มีผลสัมฤทธิ์ที่สำเร็จเป็นรูปธรรม ตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติได้ดี โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการดำเนินงานที่ต่อยอดจากแผนงานเดิมที่วางไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ซึ่งจะมุ่งเน้นดำเนินงานตามแนวทาง ดังนี้
5.1 พัฒนา อพท. ให้เป็นองค์กรแห่งความตื่นตัว คล่องแคล่ว ตอบโจทย์ความเป็นองค์การมหาชน โดยเริ่มจากการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรที่มีความตื่นตัว มีคุณลักษณะเป็นนักประสานงาน นักส่งเสริม เป็นผู้นำ และเป็นนักยุทธศาสตร์ เพื่อการทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้นำศักยภาพของตัวเองมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่และชุมชนที่ อพท. ได้รับมอบหมายจนเป็นผลสำเร็จ
5.2 การมองไปข้างหน้า (Look Ahead) ให้ภาพของ อพท. เป็นองค์กรที่มองไปข้างหน้า (Outlook) ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มีการทำงานที่ชัดเจนตามแผนแม่บทที่วางไว้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดแก่สังคม ชุมชน และภาคีเครือข่าย ผ่านการทำงานตามโครงการที่ได้รับมอบหมาย มีแผนการดำเนินงานที่เป็นไปได้และเห็นผลแน่นอน สร้างให้ชุมชนและภาคีเครือข่ายมองเห็นถึงความต่อเนื่องของการทำงานของ อพท. โดยเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำในวันนี้ เพื่อให้เป็นผลสำเร็จของการพัฒนาในวันข้างหน้าที่ชัดเจน
5.3 สร้างความศรัทธา (Trust) ความเชื่อมั่น ให้เกิดเป็นภาพจำขององค์กรส่งไปถึงแก่บุคคลภายนอกว่าเป็นองค์กรที่มีความจริงใจ ลงพื้นที่จริง ทำจริง และติดตามประเมินผลการทำงานจริง หาก อพท. ได้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ใดแล้ว พื้นที่แห่งนั้นจะเกิดความยั่งยืนอย่างแน่นอน
5.4 สร้างวัฒนธรรมองค์กร (Culture) ให้บุคลากรมีความภูมิใจที่ได้ทำงานในองค์กรแห่งนี้ มีคุณลักษณะความเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการ ถึงระดับหัวหน้างาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานมีพลังในการทำงานได้บรรลุเป้าหมายตามกำหนดเวลา ภายใต้แนวความคิด “รับผิดชอบ รวดเร็ว สำเร็จภารกิจ ทันเวลา”
5.5 ให้ความสำคัญกับบุคลากรในทุกระดับงาน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้คิด ได้เสนอ และได้ทำในสิ่งที่มีความชอบ และมีความถนัด
มีการถอดบทเรียนของความสำเร็จสู่นวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น บุคลากรของ อพท. สามารถคิดนอกกรอบได้อย่างมีเหตุและผล เพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและภาคีเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกัน
5.6 พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชนควบคู่ไปกับการศึกษาช่องทางการจัดจำหน่าย ในรูปแบบ Marketplace ใน Platform Smart Dasta ของ อพท. เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าช่วยเหลือชุมชน รวมถึงศึกษา Business Model เพื่อหารายได้ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับ อพท.
สุดท้ายนี้ ผม พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ทุกคน มุ่งมั่น พร้อมทุ่มเทพลังกาย พลังใจ และพลังสติปัญญา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ อพท. “เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข” ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่กำหนดไว้ต่อไป
- คำแถลงนโยบายการบริหารงาน อพท. ปี 2564 (63 Downloads)