ความเป็นมา/เป้าหมาย
การดำเนินงานขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เน้นการรักษาสมดุล ๓ มิติ ที่เป็นเสาหลัก คือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการมีส่วนร่วม เป็นหน่วยงานที่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนำแหล่งท่องเที่ยวนั้นไปทำการตลาด โดยกลุ่มที่ อพท.จะเข้าไปพัฒนามีด้วยกัน ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑. กลุ่มนักท่องเที่ยว อพท.จะให้ความรู้การท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และให้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ๒. กลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ อพท. จะให้จัดหลักสูตรการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งแนะนำการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีจะส่งผลดีอย่างไร และ ๓.กลุ่มเยาวชน อพท. จะพัฒนาเยาวชนให้เข้าใจเรื่องนักท่องเที่ยว ธุรกิจ เศรษฐกิจ รู้จักการท่องเที่ยวแบบสบายกระเป๋า พร้อมกับใส่ใจสิ่งแวดล้อม
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่มีการดำเนินการสืบเนื่องต่อไปยังอนาคต ดังนั้นการเตรียมพร้อมของคนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคตเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นโครงการเยาวชน อพท. ไม่ใช่เป็นโครงการที่จัดค่ายเยาวชนแล้วจบไป แต่การดำเนินการของโครงการเป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน เพื่อเตรียมตัวรองรับการจัดการท่องเที่ยวในชุมชนของตนเอง สามารถดูแลสภาพแวดล้อมของชุมชนตนเองให้ยั่งยืน แต่เนื่องจากการให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายจะมีความแตกต่างกัน สำหรับกลุ่มเยาวชนจำเป็นต้องใช้การเรียนรู้ผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน โดยแบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่
- น้องค่าย ได้แก่ เยาวชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชน เมื่อจบกิจกรรมค่ายเยาวชนแล้วก็ยังพร้อมจะกลับมาเข้าเข้าร่วมกิจกรรมของ อพท.
- พี่เลี้ยง ได้แก่ กลุ่มแกนนำในการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน เป็นกลุ่มที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนกระบวนการกิจกรรมค่ายให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการทำค่ายเยาวชน เยาวชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ อพท. มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพต่อยอดให้มีความสามารถในการรองรับการจัดการท่องเที่ยวและสามารถดูแลสภาพแวดล้อมของชุมชนตนเองให้ยั่งยืน เพราะรู้จักกระบวนการทำงาน การเสนอความคิดเห็น การแก้ไขปัญหา และสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกันได้
การดำเนินโครงการเยาวชน อพท. เป็นการดำเนินงานภายใต้พันธกิจที่ ๓ และ ๕ ของ อพท. กล่าวคือ พันธกิจที่ ๓ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และพันธกิจที่ ๕ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นของตน โดยมียุทธศาสตร์ที่ ๖ การให้บริการด้านองค์ความรู้เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นแนวทางการดำเนินโครงการ
โครงการเยาวชน อพท. เริ่มต้นในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ตลอด ๔ ปีที่ผ่านมา อพท. ได้การดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ๑.๖๘๐ คน จาก ๓๒ โรงเรียน และ ๗ สภาเด็กและเยาวชนตำบล จำนวนทั้งสิ้น ๒๗ โครงการ มีการเรียนรู้ทั้งในห้องบรรยาย ห้องเรียนจริง มีการปฏิบัติจริง รวมไปถึงการให้การสนันสนุนกิจกรรมของเยาวชนที่มีความความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจากการอบรมให้เกิดเป็นรูปธรรมจำนวนทั้งสิ้น ๒๔ โครงการ สร้างแกนนำเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ จำนวนประมาณ ๓๐ คน โดยแนวทางการพัฒนาศักภาพของเยาวชนมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
ปีที่ ๑ ให้ความรู้ในสิ่งที่ใกล้ตัวเยาวชน ให้เกิดความเข้าใจ รู้คุณค่า เกิดความรัก ความหวงแหน โดยเป็นการให้ความรู้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แรก สร้างความรู้ คุณค่า ทรัพยากรในท้องถิ่น มุ้งเน้น ป่าชายเลน ปะการัง
ปีที่ ๒ สร้างความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีความเข้าใจความสำคัญของการท่องเที่ยวที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชุมชน รวมทั้งการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวให้มีการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ปีที่ ๓ พัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถให้แกนนำเยาวชน ที่เป็นแกนนำในดำเนินการกิจกรรมค่าย โดยเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์ที่นอกเหนือจากการทำงาน ได้แก่ การเรียนรู้การทำวิสัยทัศน์ การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค การสอบถามความต้องการ การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง การเขียนโครงการ รวมทั้งการทัศนศึกษาการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ที่ อพท. เข้าไปมีส่วนร่วม
ปีที่ ๔ คัดเลือกแกนนำเยาวชน อพท. เพื่อเป็นตัวแทน อพท. ในการดำเนินกิจกรรมเยาวชนของ อพท. โดยใช้ชื่อเรียกว่า “ยุวชน อพท” หรือ “DASTA gen-z gang” เป็นทีมงานที่จะดำเนินกิจกรรมเยาวชนในพื้นที่พิเศษของ อพท.
เป้าหมาย
ปรัชญาการดำเนินงานของ อพท. คือ การพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างสมดุล ๓ ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นั่นคือ การมีรายได้เพิ่มขึ้นจะต้องไม่ได้มาจากแหล่งเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญที่จำเป็นที่สุดในกระบวนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแต่ละพื้นที่นั้น คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๔ อพท. เน้นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยแผนงานของ อพท. จะเป็นการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ซึ่งจะได้ผลลัพธ์คือประเด็นเรื่องการลดภาวะโลกร้อน เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในปี พ.ศ.๒๕๕๔ จะเป็นการท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สำหรับแผนงานด้านเยาวชนของ อพท. ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ มุ่งเน้นการพัฒนา ยุวชน อพท. จำนวน ๒๐ คน ให้เป็นตัวแทนของ อพท. สามารถสร้างเครือข่ายและดำเนินกิจกรรมเยาวชนได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเป็นผู้นำความรู้ต่างๆ ที่ อพท. ถ่ายทอดให้ไปถ่ายทอดต่อให้กับเยาวชนรุ่นน้องหรือชุมชนของตนเอง ทั้งนี้เป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้เป็นผู้ที่รู้จักถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แพร่หลาย สามารถทำร่วมกับชุมชนได้ อีกทั้งรู้จักคิดสร้างสรรค์โครงการต่างๆ ในการพัฒนาชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง ถือได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายในอนาคตของ อพท. อีกช่องทางหนึ่ง และเป็นการสร้างคนในอนาคตให้มีความพร้อม สู่ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน